Page 219 - kpi23788
P. 219
บทที่ 6
การบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง
เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มีบทบาทสำคัญในการติดตามการเกิดไฟป่าหมอกควันทั้งใน
ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องด้วยข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมจะครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและ
สามารถติดตามได้อย่างต่อเนื่องหลายช่วงเวลา นับเป็นข้อมูลสำคัญต่อการสนับสนุนการตัดสินใจและวางแผน
เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน นอกจากนี้ สทอภ. ยังมีส่วนร่วมบูรณาการแนวทางการ
ดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและวางแผนบริหารจัดการในระดับ
พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้
6.1 ภารกิจ สทอภ. กับไฟป่าและหมอกควัน
สทอภ. เริ่มใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสนับสนุนภารกิจไฟป่าหมอกควันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี
2558 เพื่อให้ข้อมูลการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันจากดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการ
ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยหน่วยงานภาคีและหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องมีมติ
เห็นชอบให้ทุกหน่วยงานใช้ข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมของ สทอภ. ในการติดตาม รายงาน และสรุปเป็น
สถิติหลักของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้ สทอภ. จึงได้วางแผนการดำเนินงานเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ติดตามและ
นำข้อมูลไปใช้เพื่อปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจหลักของแต่ละหน่วยงาน ดังนี้
6.1.1 การปรับแผนการรับสัญญาณข้อมูล เพื่อให้สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม Suomi NPP
ระบบ VIIRS เป็นดาวเทียมหลักในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคมของทุกปีในช่วงฤดูไฟป่า เพื่อให้
สามารถวิเคราะห์ ประมวลผล และรายงานการติดตามสถานการณ์ให้กับหน่วยงานในระดับปฏิบัติและระดับ
พื้นที่นำไปใช้ป้องกันและบริหารรจัดการไฟป่าได้อย่างทันท่วงที
6.1.2 การออกแบบฐานข้อมูล (Geodatabase) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
เหมาะสมกับการใช้งาน โดยได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบถามความต้องการ
(user requirement) เพื่อกำหนดรูปแบบและข้อมูลที่ใช้วิเคราะห์ให้สอดคล้องกับการใช้งาน
6.1.3 การดำเนินการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลจุดความร้อนจากดาวเทียมตามช่วงเวลา และ
ให้บริการข้อมูลหลังจากรับสัญญาณ ภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อให้หน่วยงานในระดับปฏิบัติและระดับพื้นที่นำไปใช้
วางแผนและบริหารจัดการได้อย่างทันท่วงที
6.1.4 การสนับสนุนเจ้าหน้าที่ประจำ 17 จังหวัด เพื่อสนับสนุนการจัดทำข้อมูลจุดความร้อนในระดับ
จังหวัดให้กับเจ้าหน้าที่แลผู้บริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ สำหรับใช้ในการติดตาม เฝ้าระวัง
และวางแผนบริหารจัดการเชิงพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการใช้งานระบบติดตามไฟป่าและหมอก
ควัน (fire.gistda.or.th) รวมทั้งการส่งเสริมการใช้งานระบบสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการพื้นที่
ประสบภัยพิบัติ (disaster.gistda.or.th) อีกด้วย ดังภาพที่ 6.1
รายงานสรุปสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน ปี 2566 โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 90
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): สทอภ.