Page 4 - 22221_Fulltext
P. 4
คำนำ สถาบันพระปกเกล้า
รางวัลพระปกเกล้า เป็นรางวัลที่สถาบันพระปกเกล้าริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 โดยมี
วัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมและกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารงานตามหลัก
ธรรมาภิบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโปร่งใสและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
จากนั้นในปี 2552 ได้ขยายประเภทรางวัลในมิติที่สถาบันฯ เล็งเห็นว่ามีความสำคัญ
ต่อการบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ การเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์
และการเสริมสร้างเครือข่าย รัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งนี้ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่ 21
ของการมอบรางวัลฯ สถาบันฯ ได้เพิ่มรางวัลประเภทการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เนื่องจากได้เล็งเห็นแล้วว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด
ซึ่งที่ผ่านมานั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน
และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง สถาบันฯ จึงเห็นควรเพิ่มรางวัล
พระปกเกล้า ด้านการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกหนึ่งด้าน เพื่อยกระดับการทำงานของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินงานขับเคลื่อนประเด็นความเหลื่อมล้ำในระดับพื้นที่
มากขึ้น และอีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความพยายาม
ในการที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้เกิดขึ้น
แม้ว่าในปีนี้ยังคงมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
อย่างต่อเนื่อง ประชาชนยังไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่สถาบันฯ และองค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นได้ปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ มีการประเมินรางวัลพระปกเกล้า ประจำปี
2564 ในแบบวิถีใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการขั้นตอนการประเมิน แต่ยังคง
กระบวนการพิจารณาที่เข้มข้นทั้งการพิจารณาจากใบสมัคร การประเมินความคิดเห็นของ
ประชาชนในพื้นที่ การตรวจสอบเรื่องความสุจริตโปร่งใส และการลงพื้นที่แบบเสมือนจริง
สถาบันพระปกเกล้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลพระปกเกล้านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการธำรง
รักษา “เกียรติภูมิท้องถิ่น” และสร้างสรรค์การกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น
อันเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง
สืบไป
(ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย)
เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
รางวัลพระปกเกล้า’ 64