Page 152 - kpi13397
P. 152
กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 1
(๒.๒) มาตรา ๓๐ วรรคสอง (๒) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ
ราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดให้ เจ้าหน้าที่อาจจะไม่ต้องให้
คู่กรณีมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งแสดง
พยานหลักฐานของตนได้ ในกรณีที่การให้สิทธิดังกล่าวจะมีผลทำให้ระยะ
เวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
ประกอบกับมาตรา ๗ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนน
เสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
กำหนดระยะเวลาการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ดังนั้น ผู้ว่าราชการ
จังหวัดกาฬสินธุ์ไม่จำเป็นต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
ข้อเท็จจริงเพราะอาจทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ
การเลือกตั้งประกาศผลการลงคะแนนเสียงถอดถอนนายกเทศมนตรีตำบล
สงเปลือยต้องล่าช้าออกไป
นอกจากนี้ มาตรา ๓๐ วรรคสอง (๖) แห่งพระราชบัญญัติ
วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ประกอบกับกฎกระทรวง (ฉบับ
ที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๐ ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง
ปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ กำหนดว่าการให้พ้นจากตำแหน่งเป็นคำสั่งทาง
ปกครองที่อาจไม่ต้องให้โอกาสคู่กรณีที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ
และโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก็ได้ ดังนั้น เมื่อประกาศผลการลง
คะแนนเสียงถอดถอนเป็นการให้พ้นจากตำแหน่งจึงไม่ต้องดำเนินการตาม
มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
(๒.๓) ประเด็นปัญหาว่าประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ เรื่อง กำหนดวันลงคะแนนเสียงถอดถอนนายก
เทศมนตรีตำบลสงเปลือย เป็นคำสั่งทางปกครองหรือไม่ นั้น กรมส่งเสริม
การปกครองท้องถิ่นมีความเห็นเป็นสองแนวทาง ดังนี้
แนวทางที่หนึ่ง เห็นว่า ประกาศผลการลงคะแนนเสียงถอดถอน
ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากมีผลทำให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ